การถนอมอาหาร
การถนอมอาหาร ในสมัยโบราณ ปลาเป็นอาหารหลักอย่างหนึ่งของคนไทย
ซึ่งหาได้ง่ายตามแม่น้ำลำคลอง ดังนั้น ในวันที่จับปลาได้มาก ก็จะมีการแบ่งปันให้ญาติ
หรือเพื่อนบ้าน ได้รับประทานกันอย่างทั่วถึง ตามนิสัยโอบอ้อมอารีของคนไทยในสมัยก่อน
ส่วนที่เหลือ จะเก็บรักษาไว้ โดยการหมักเกลือ ทำเป็นปลาร้า ตากแดด หรือย่างรมควัน ส่วนผลไม้อาจนำมากวน
ซึ่งเป็นการระเหยเอาน้ำออก เพื่อทำให้ผลไม้นั้น สามารถเก็บไว้ได้นาน อาจจะเติมน้ำตาลด้วยหรือไม่ก็ได้
เพื่อให้รสชาติดีขึ้น ถึงแม้ว่าคนไทยสมัยก่อน จะไม่ทราบทฤษฎี
หรือหลักการในการถนอมรักษาผลิตผลการเกษตร ในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่ก็ได้มีการปฏิบัติต่อๆ
กันมาหลายชั่วอายุคน เป็นวิธีง่ายๆ ไม่มีกรรมวิธียุ่งยาก หรือซับซ้อน โดยอาศัยธรรมชาติเป็นส่วนช่วยในการถนอมรักษา
อาจจะมีทั้งการเก็บในลักษณะสด และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดใหม่ โดยที่คุณภาพเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
และสามารถเก็บไว้ได้นาน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
อ่านเพิ่มเติม
อ่านเพิ่มเติม
1. เก็บในสภาพสด บ้านของคนไทยในชนบทมักจะมีใต้ถุนสูง
และจะสังเกตเห็นว่า แต่ละบ้านจะเก็บหอม กระเทียม โดยการแขวนไว้บนราวใต้ถุนบ้าน ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ทั้งนี้เพราะผลิตผลการเกษตรจะมีการหายใจ (ระเหยเอาน้ำออก) ซึ่งจะสะสมความร้อน ทำให้ผลิตผลนั้น
เน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นการแขวนไว้ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเท จะเป็นการลดปริมาณน้ำของหอมและกระเทียม
ทำให้สามารถเก็บไว้ได้นาน ผักที่มีเปลือกหนา เช่น ฟักเขียว ฟักทอง
จะสามารถเก็บไว้ได้นาน ถ้าเก็บในที่ร่มและอากาศถ่ายเทได้สะดวก ต่างกับการเก็บมะนาวสด
ซึ่งใช้วิธีฝังทรายที่พรมน้ำเล็กน้อย จะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิทราย จะป้องกันไม่ให้ผิวของเปลือกมะนาวสัมผัสอากาศ
เป็นการป้องกันการเหี่ยว ทำให้สามารถเก็บมะนาวได้เป็นเวลาหลายเดือน
2. การแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ กรรมวิธีการถนอมผลิตผลการเกษตร หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดต่างๆ
นั้น มีการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาหลายวิธี แต่ละวิธีอาจจะแตกต่างกันออกไป ในรายละเอียดปลีกย่อย
แล้วแต่ความนิยมในท้องถิ่น ซึ่งอาจจะแบ่งออกได้ ดังนี้
2.1 การทำให้แห้ง
- การตากแดด คนโบราณสังเกตเห็นว่าเมล็ดธัญพืช และถั่วต่างๆ
เมื่อแก่และทิ้งไว้ให้แห้งตามธรรมชาติ สามารถเก็บไว้ได้นาน ดังนั้นจึงมีการเลียนแบบธรรมชาติ
โดยการผึ่งลม และตากแดดให้แห้ง เพื่อจะได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น กล้วยตาก
ปลาแห้ง ผักตากแห้ง เครื่องเทศ เป็นต้น
สำหรับเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว หรือเนื้อหมู
ในกรณีที่มีเนื้อสดเหลือมาก ก็มีการทำแห้งเช่นเดียวกัน โดยแล่เป็นชิ้น นำมาคลุกเกลือ
เพื่อป้องกันการเน่าเสีย แล้ววางแผ่บนตะแกรง หรือกระด้ง นำออกตากแดดจนแห้ง ในระหว่างตาก
ก็กลับชิ้นเนื้อให้ทุกส่วนได้รับความร้อนจากแสงแดด เมื่อแห้งแล้ว จึงนำมาเก็บ โดยการผึ่งบนกระจาด
ไม่ต้องปิดมิดชิด เพราะจะทำให้มีกลิ่นเหม็น
-การกวน การกวนเป็นการลดปริมาณน้ำในเนื้ออาหารอีกวิธีหนึ่ง
โดยใช้ความร้อนต่ำ เช่น มะม่วงกวน ทุเรียนกวน เป็นต้น ผลไม้ที่จะนำมากวน มักจะเป็นผลไม้สุก
ที่เหลือจากการรับประทานสด นำเฉพาะเนื้อผลไม้นั้น มาขยี้ให้เนื้อแตก แล้วใส่กระทะ หรือหม้อ
ตั้งไฟอ่อนๆ หรือปานกลาง ใช้ไม้พายคนหรือกวนผลไม้นั้น ให้เข้ากัน และกวนไปเรื่อยๆ เพื่อให้น้ำระเหยออก
และไม่ให้เนื้อผลไม้ติดกับกระทะ จนกระทั่งเนื้อผลไม้นั้นข้นเหนียว แล้วจึงยกออกจากเตาไฟ
และคนต่อไปอีก จนกระทั่งความร้อนลดลง นำเข้าเก็บในขวดหรือหม้อ แล้วปิดฝา
การกวนผลไม้ที่ไม่ค่อยมีรสหวาน ส่วนมากจะนิยมเติมน้ำตาล
เพื่อเพิ่มความหวานให้ผลไม้นั้น เช่น สับปะรด เนื่องจากมีรสเปรี้ยว ดังนั้น การกวนส่วนมากจะเติมน้ำตาล
เพื่อเพิ่มความหวาน และอาจเติมเกลือเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรสชาติ หรือบางชนิดอาจเติมกะทิด้วย
เช่น การกวนกล้วย เป็นต้น ผลประเภทฟักทอง มันเทศ เผือก โดยปกติจะสามารถเก็บได้หลายวัน
เพราะมีเปลือกหนา แต่อาจจะนำมากวน เพื่อเก็บไว้รับประทานเป็นอาหารหวานได้
-การต้มหรือนึ่งแล้วตากแห้ง การต้มหรือนึ่งหรือลวก จะเป็นการไล่ฟองอากาศจากเนื้อเยื่อของวัตถุดิบ
และยับยั้งการเปลี่ยนแปลงทางเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการรักษาสีของผลิตภัณฑ์ ป้องกันการเน่าเสีย
เช่น กุ้งแห้ง ทำโดยต้มกุ้งสดในน้ำเกลือเจือจาง แล้วนำมาเกลี่ยบนตะแกรงหรือเสื่อ ที่ทำด้วยไม้ไผ่
ตากแดดให้แห้ง เมื่อสังเกตเห็นว่า เปลือกกุ้งกรอบ ก็เอาเปลือกออก ซึ่งทำได้หลายวิธี
เช่น ใส่ถุงผ้า แล้วทุบด้วยของหนักๆ หรือฟาดกับพื้น เพื่อให้เปลือกกุ้งและหัวหลุดออกจากตัวกุ้ง
นำมาฝัดเอาเปลือกและหัวกุ้งออก ตัวเนื้อกุ้งที่เหลือจะมีสีชมพู นำมาเกลี่ยบนตะแกรงหรือเสื่อ
เพื่อตากแดดอีกครั้งหนึ่งจนแห้ง การตากแดดทั้งสองระยะจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน ทั้งนี้แล้วแต่ความร้อนจากแสงแดด
และปริมาณของกุ้งบนเสื่อ เมื่อแห้งดีแล้ว เก็บใส่ในภาชนะที่ปิดสนิท สามารถเก็บไว้รับประทานได้เป็นเวลานาน
2.2 การรมควัน
วิธีนี้จะใช้ในการเก็บรักษาปลาในรูปของปลาย่างแห้ง
ขั้นต้นต้องทำความสะอาดปลา โดยเอาไส้และพุงออกให้หมด ล้างให้สะอาด แล้ววางปลาบนตะแกรงไม้ไผ่เหนือกองไฟ
ที่มีควัน เชื้อเพลิงที่ใช้เพื่อทำให้เกิดควัน ได้แก่ กาบมะพร้าว ชานอ้อย ขี้เลื่อย
โดยทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างช้าๆ และมีควันออกมา จะต้องครอบเตาด้วยภาชนะที่สามารถเก็บควันให้รมปลาอยู่ภายใน
ใช้ถ่านหรือฟืนเป็นตัวที่ทำให้เกิดความร้อนในการย่าง หมั่นกลับปลาบ่อยๆ ควันจะจับที่ตัวปลา
แล้วยังจับที่ผิวของปลา ทำให้มีสีน้ำตาลอมเหลือง และทำให้ปลามีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ชวนรับประทาน
ปลาที่นิยมทำเป็นปลารมควัน ได้แก่ ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลากดทะเล ฯลฯ ปลารมควันถ้าเก็บโดยแขวนผึ่งลม
และมีอากาศถ่ายเท จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 2 - 3 เดือน
3. การแช่อิ่ม การแช่อิ่มเป็นวิธีถนอมผลไม้และผักบางชนิด
โดยแช่ในน้ำเชื่อม น้ำตาลจะช่วยดึงน้ำออกจากผักและผลไม้ ขณะเดียวกันน้ำตาลก็ซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อของผักหรือผลไม้
แทนอณูของน้ำ จนอิ่มตัว ทำให้ผักหรือผลไม้นั้น มีรสหวานขึ้น เช่น มะละกอแช่อิ่ม ฟักแช่อิ่ม
เปลือกส้มแช่อิ่ม เป็นต้น
4. การทอดหรือการคั่ว
4.1 การทอด ทำได้โดยนำผลิตผลทางการเกษตรมาปอกเปลือก
หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตามความชอบ ของแต่ละครอบครัว แล้วนำลงทอดในน้ำมันร้อนๆ พอสุก ก็นำขึ้นจากน้ำมัน
ตั้งทิ้งไว้บนตะแกรงให้สะเด็ดน้ำมัน เตรียมน้ำเชื่อมข้นมากๆ แล้วนำผักหรือผลไม้ที่สะเด็ดน้ำมันแล้ว
ลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันดี น้ำตาลจะเคลือบชิ้นผักหรือผลไม้นั้น ทิ้งไว้ให้แห้ง น้ำตาลที่เคลือบจะแข็งตัว
ถ้าเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด จะสามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น กล้วยฉาบ เผือกฉาบ หรือ
ถั่วลิสงคลุก เป็นต้น
4.2 การคั่ว เป็นการทำผลิตผลการเกษตรให้สุก โดยคนกลับไปกลับมาในกระทะที่ตั้งไฟให้ร้อน
เช่น ถั่วลิสงคั่ว หรือถ้าผลิตผลนั้น มีเปลือกหนา เช่น มะก่อ เกาลัด ในการคั่ว ส่วนมากจะใช้ทราย
ช่วยในการกระจายความร้อนเข้าไปในเนื้อของเม็ดมะก่อ หรือเกาลัด เพื่อเนื้อจะได้สุกอย่างสม่ำเสมอ
โดยปลือกไม่ไหม้ เมื่อสุกแล้ว นำมาแยกออกจากทราย ผึ่งให้เย็น เก็บไว้รับประทานได้หลายวัน
5. การหมักเกลือ
การถนอมผลิตผลการเกษตร โดยใช้เกลือเป็นตัวช่วยในการรักษา
ไม่ให้ผลิตผลเน่าเสียง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ซึ่งมีโปรตีนสูง ถ้าทิ้งไว้จะเกิดการเน่าเสีย
ดังนั้น ในกรณีที่มีปริมาณมาก ไม่สามารถรับประทานได้หมด จึงจำเป็นต้องเก็บไว้ เพื่อรับประทานได้นานวัน
โดยคลุกเนื้อสัตว์กับเกลือ ทำให้เนื้อสัตว์มีรสเค็ม ซึ่งทำให้เกิดภาวะไม่เหมาะแก่การเจริญเติบโต
ของจุลินทรีย์ โดยทั่วไปมักจะเอาเนื้อหมัก เกลือนั้นมาตากแดด 1 - 2 วัน แล้วจึงเก็บไว้ เพื่อรับประทานได้หลายวัน หรือแขวนผึ่งลมให้ เนื้อแห้ง
อาจจะทอดหรือปิ้งก่อนรับประทาน ซึ่ง เกลือจะช่วยเสริมให้เนื้อสัตว์นั้นมีรสดีขึ้น
6. การหมักดอง คนไทยส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการหมัก และการดองควบคู่กันไป
แต่ในหลักการถนอมอาหาร ถึงแม้ว่าคนในสมัยก่อนจะไม่ทราบ แต่การหมัก (fermentation)
และการดอง (pickling)
นั้นต่างกัน โดยวิธีทำ
คือ
6.1.
การหมัก หมายถึง การถนอมอาหาร โดยอาศัยจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์บางชนิด
เป็นตัวช่วยในการย่อยสลาย หรือเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของวัตถุดิบ อาจเติมเกลือหรือไม่ก็ได้
และอาจเติมส่วนประกอบอย่างอื่น เช่น ข้าวคั่ว เพื่อเสริมให้จุลินทรีย์มีบทบาทในการหมัก
ทำให้เกิดรสชาติที่ต้องการ ซึ่งอาจต้องหมักทิ้งไว้ ประมาณ 2 - 3 วัน หรือหลายเดือน
แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำปลา ปลาร้า ปลาเจ่า หม่ำ ไส้กรอก (เปรี้ยว) เค็มหมักนัด
ข้าวหมาก อุ (น้ำเมาหมักจากข้าว) ผักกาดดอง และหน่อไม้ดอง เป็นต้น
6.2 การดอง หมายถึง การถนอมอาหารในน้ำเกลือ และมีน้ำส้มเล็กน้อย
อาจเติมเครื่องเทศ น้ำตาล หรือน้ำมันด้วยก็ได้
การดองอาจอาศัยเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปช่วย ถ้าดองในน้ำเกลือ ที่มีความเข้มข้นต่ำ เช่น
แตงกวาดอง กระเทียมดอง ขิง ดอง เป็นต้น หรืออาจดองโดยไม่ต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์เลย
ซึ่งมักใช้กับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว หรือที่มีความเป็นกรดสูง และใช้น้ำเกลือที่เค็มจัด
เช่น มะม่วงดอง เป็นต้น อาหารหมักดองที่ได้มีการปฏิบัติติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
พอจะแบ่งออกได้ตามประเภทของวัตถุดิบของการเกษตรที่ใช้ ดังนี้
- การหมักดองผักและผลไม้
ส่วนมากจะดองในน้ำเกลือผสมน้ำส้มเล็กน้อย อาจเติมเครื่องเทศ น้ำตาล หรือน้ำมันด้วยก็ได้
ส่วนผักดองบางอย่างอาจเติมน้ำซาวข้าวผสมลงไป เช่น ผักกาดดอง บางอย่างเติมน้ำมะพร้าวลงไป
เช่น ถั่วงอกดอง ผักเสี้ยนดอง เพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยาหมักดอง แล้วเกิดรสเปรี้ยว และกลิ่นที่ต้องการ
- การหมักดองสัตว์น้ำ วิธีที่ใช้กันมากคือ
การใส่เกลือ แล้วหมักไว้ ปริมาณเกลือ และระยะเวลาในการหมัก แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ
ซึ่งกรรมวิธีในการหมักผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ที่ปฏิบัติต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ พอจะแบ่งออกได้เป็น
3 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 การหมักที่ใช้เกลือมากหรือเค็มจัด
ประเภทที่ 2 การหมักที่ใช้เกลือ และมีข้าวหรือ
แป้งเป็นส่วนประกอบ
ประเภทที่ 3 การหมักที่ใช้เกลือ และมีผักหรือ
ผลไม้เป็นส่วนประกอบ
6.3 การหมักที่ใช้เกลือมากหรือเค็มจัด
ผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ น้ำปลา
น้ำบูดู กะปิ ไตปลาดอง ปลาทูเค็ม ปูเค็ม เป็นต้น กรรมวิธีในการหมัก และปริมาณเกลือที่ใช้
แตกต่างกันตามวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ เช่น การทำน้ำปลา ปลาที่นิยมใช้มาก คือ
ปลาไส้ตัน ปลาสร้อย ปลากะตัก โดยนำมาคลุกเคล้ากับเกลือในอัตราส่วนประมาณ 3 ส่วน ต่อเกลือ
1 ส่วน แล้วบรรจุไห เติมเกลือเพิ่มเติมอีกบนตัว ปลา ตรงปากไห เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก
(ไม่ปิด สนิท) ตั้งทิ้งไว้โดยให้ถูกแสงแดดบ้าง จนกระทั่ง เนื้อปลาย่อยสลายออกมาเป็นของเหลวสีเหลืองอ่อน
หรือน้ำตาลแดง จะเหลือเฉพาะก้างอยู่ก้นไห กรองเอาส่วนที่เป็นน้ำใสออกมาบรรจุใส่ขวด
ปิดฝาเก็บไว้ เพื่อรับประทานต่อไป ชาวบ้านจะเรียกว่า ไว้หัวน้ำปลา ส่วนก้างที่เหลือ
ซึ่งมีปริมาณโปรตีนเหลือติดอยู่ อาจจะนำมาต้มกับน้ำเกลือ แล้วหมักทิ้งไว้อีกประมาณ
6 – 9 เดือน จะได้น้ำปลาเช่นเดียวกัน แต่คุณภาพจะด้อยกว่าหัวน้ำปลามาก
กะปิ เป็นผลิตภัณฑ์ที่คนไทยทำกินกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ
จนถึงปัจจุบันนี้ กรรมวิธีในการหมักค่อนข้างง่าย แต่ใช้เวลาหมักนาน วัตถุดิบที่ใช้
คือ กุ้งฝอย เคยฝอย หรือกุ้งตัวเล็กๆ คลุกเคล้ากับเกลือ ปริมาณเกลือที่ใช้แตกต่างกัน
แล้วแต่ครอบครัว ส่วนมากจะใช้ประมาณร้อยละ 15 - 30 ของกุ้ง แล้วแต่ท้องถิ่น กุ้งหมักกับเกลือประมาณ
1 - 2 วัน ในตะกร้าสานด้วย ไม้ไผ่ ขณะที่ตั้งทิ้งไว้จะมีน้ำไหลออกมาจากตัวกุ้ง
เมื่อไม่มีน้ำไหลออกมาแล้ว หรือมีเพียงเล็กน้อย นำกุ้งมาเกลี่ยบนเสื่อไม้ไผ่ แล้วนำออกผึ่งแดดให้กุ้งแห้งพอหมาดๆ
จากนั้นนำมาตำให้ละเอียด จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ข้นเหนียวมีสีชมพู หรือม่วงดำ แล้วแต่ชนิดของวัตถุดิบ
บรรจุลงโอ่งหรือไหอัด ให้แน่น ไม่ให้มีช่องอากาศ เพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นไม่ดี
หมักทิ้งไว้จนมีกลิ่นหอม โดยทั่วไป ถ้าปริมาณเกลือที่ใช้น้อย ระยะเวลาหมักจะสั้น คือ
ประมาณ 4 - 6 เดือน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ใช้เกลือมาก
จะใช้เวลาในการหมักอย่างน้อย 8 เดือน จึงจะรับประทานได้ หรือสังเกตดูเนื้อกะปิ
จะค่อนข้างแห้ง
6.4 การหมักที่ใช้เกลือ และมีข้าวหรือแป้งเป็นส่วนประกอบ
ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ที่รู้จักกันแพร่หลาย
คือ ปลาร้า ปลาจ่อม กุ้งจ่อม ปลาเจ่า ปลาส้ม ไข่ ปลาดอง ปลาแป้งแดง สัมฟัก ปลาที่ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ประเภทนี้
ส่วนมากจะเป็นปลาน้ำจืด และเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ข้าวหรือแป้งที่ใช้ แล้วแต่ชนิดผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ
อาจใช้ในรูปของข้าวคั่ว ในการทำปลาร้า หรือข้าวสุกในการทำปลาจ่อม หรือข้าวหมากในการทำปลาเจ่า
หรือข้าวแดง อังกั๊ก (Ang-kak rice) ในการทำปลาแป้งแดง ข้าวประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเป็นอาหาร เลี้ยงเชื้อจุลินทรีย์
(ที่มีบทบาทในการหมัก) ให้เจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียที่ผลิตกรดแล็กทิก
ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารหมักมีรสเปรี้ยว ส่วนจะเปรี้ยวมาก หรือเปรี้ยวน้อย แล้วแต่ชนิดของผลิตภัณฑ์
และระยะเวลาในการหมัก
ในที่นี้จะยกตัวอย่างการทำปลาร้า ซึ่งเป็นอาหารหมักดองที่คนไทยส่วนใหญ่รับประทาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเรียกว่า "ปลาแดก" ชาวภาคเหนือ
เรียกว่า "ปลาฮ้า" ชาวภาคใต้เรียกว่า "ร่า" หลักในการทำปลาร้าจะเหมือนกันในทุกๆ
ภาค ปลาที่นิยมใช้ในการทำปลาร้าจะต้องเป็นปลาที่มีไขมันน้อย เช่น ปลา กระดี่ ปลาสร้อย
ปลาช่อน ปลาขาว เริ่มด้วยการทำความสะอาดปลา เอาไส้พุงออก และล้างให้สะอาด นำมาคลุกเคล้ากับเกลือ
ปริมาณเกลือที่ใช้ไม่กำหนดแน่นอน แต่โดยทั่วๆ ไปจะใช้เกลือ 1 กก. ต่อปลา 3 – 5 กก. บางแห่งจะหมักปลาไว้หลายวัน ก่อนที่จะนำมาคลุกกับข้าวคั่วบด
หรือรำคั่ว บางแห่งจะผสมข้าวคั่วบด หรือรำคั่วไปพร้อมกันขณะที่คลุกเคล้าปลากับเกลือ
ปริมาณข้าวคั่วบดที่ใช้กับปลาหมักเกลือประมาณ 1 กก. ต่อปลา 10 กก. แต่บางแห่งก็ใช้รำคั่วในอัตราส่วน 1 กก. ต่อปลา
5 กก. เมื่อผสมปลาคลุกเคล้า เข้ากันดีแล้ว จึงบรรจุลงไห หรือโอ่งให้แน่น
ใช้ ผ้าขาวบางปิดปากไหป้องกันแมลงวัน และปิดฝา ครอบทับผ้าขาวบางอีกครั้ง เพื่อป้องกันฝุ่นแต่ต้องไม่ปิดแน่น
ทั้งนี้เพราะในสัปดาห์แรกของการหมัก จะมีน้ำล้นออกมาจากไห การหมักจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือจนกว่าจะหมดกลิ่นคาวของปลา คุณภาพของปลาร้า นอกจากจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของปลา
และส่วนผสมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดูแลในระหว่างการหมัก คือ จะต้องมีการคลุกสลับกลับไปกลับมา
ให้ส่วนที่อยู่ก้นไหขึ้นมาข้างบน แล้วกดให้แน่น ไม่ให้มีฟองอากาศ เมื่อหมักได้ที่แล้ว
ปลาร้าที่ได้จะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเนื้อปลาจะมีสีออกชมพู ปลาร้าจะสามารถเก็บไว้ได้นานถึง
3 ปี โดยจะต้องคอยดูแลในการคลุกกลับไปกลับมา ถ้าปลาร้าทำจากปลาที่มีไขมันมาก
มักจะเก็บไม่ได้นาน และกลิ่นไม่หอม ปลาร้าจะมีปริมาณโปรตีนประมาณร้อยละ 8 - 20 แล้วแต่ชนิดของปลาที่ใช้ และลักษณะของปลาร้าว่า
แห้งหรือเปียก มีเกลือประมาณ ร้อยละ 12 - 24 เวลารับประทานควรจะทำให้สุก และปรุงรสกับส่วนประกอบอื่นๆ เช่น กะทิในการทำปลาร้าหลน
พริกในการทำน้ำพริกปลาร้า เป็นต้น
6.5 การหมักที่ใช้เกลือ และมีผักหรือผลไม้เป็นส่วนประกอบ อาหารหมักประเภทนี้ไม่ค่อยแพร่หลาย นิยมกันเฉพาะในท้องถิ่น เช่น เค็มหมักนัด
(หรือเค็มสับปะรด) ซึ่งนิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดอุบลราชธานี
ปลาที่นิยมใช้ คือ ปลาสวาย หรือปลาเทโพ วิธีทำคือ แล่เนื้อติดหนัง หั่นเป็นชิ้นบางๆ
นำมาคลุกกับเกลือ 1 กก. ต่อ ปลาหั่นแล้ว 5 กก. หมักทิ้งไว้
คืน แล้วนำมาผสมกับสับปะรดที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ โดยใช้ทั้งน้ำและเนื้อสับปะรด
ผสมกับปลาในอัตราส่วน 1 : 1 บรรจุใส่ขวดที่ล้างสะอาดอัดแน่นไม่ให้มี
ฟองอากาศ ไม่ควรบรรจุเต็มขวด ควรเหลือช่องว่างไว้สำหรับก๊าซที่จะเกิดขึ้นระหว่างการหมัก
ปิดฝาให้สนิทตั้งทิ้งไว้ในที่มืด การหมักจะได้ที่ โดยสังเกตจากน้ำสับปะรดซึ่งจะใส เนื้อปลาจะมีสีชมพู
ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เค็มหมักนัดจะมีรสเปรี้ยวและหวานเล็กน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว
นิยมรับประทานดิบๆ กับผักสด หรือหลนกับกะทิ แล้วรับประทานกับผัก
ปลาหม่ำ เป็นผลิตภัณฑ์อีกชนิดหนึ่ง ที่ใช้ปลาผสมกับเกลือ
ข้าวคั่ว มะละกอ และข่าแก่ ปลาที่นิยมคือ ปลาช่อน โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ บางๆ คลุกกับเกลือในอัตราส่วน
3 กก. เกลือ 1 กก. ผสมข้าวคั่วบดเล็กน้อย เช่นเดียวกับการทำปลาร้าบรรจุในไห
หมักไว้ประมาณเดือนครึ่ง หรือสองเดือน แล้วจึงออกมาผสมกับมะละกอดิบที่สับเป็นชิ้นเล็กๆ
เติมข่าแก่ที่ตำละเอียดลงไปเล็กน้อย เมื่อผสมเข้ากันดีแล้ว จึงบรรจุลงไหตามเดิม หมักไว้ประมาณ
1 - 2 เดือน ก็รับประทานได้ นิยมรับประทานดิบหรือหลนกับกะทิ
ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่รู้จักกันแพร่หลาย
6.6 การหมักดองเนื้อสัตว์ ในสมัยโบราณคนไทยจะเลี้ยงสัตว์ไว้กินเอง เนื่องจากยังไม่มีตลาด ที่เป็นศูนย์กลางการซื้อขาย
ดังนั้นเนื้อสัตว์จึงได้มาจากสัตว์เลี้ยง หรือล่าสัตว์ เมื่อได้มาก็ใช้รับประทานกันในครอบครัว
และแบ่งปันในระหว่างเครือญาติ แต่ถ้ามีมากจำเป็นที่จะต้องเก็บไว้ เพื่อรับประทานในวันข้างหน้า
การถนอมอาหารในสมัยนั้น นอกจากการตากแดด การหมักเกลือแล้ว ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หมักดอง
ที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และมีรสชาติดี ซึ่งพอจะแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้ :-
6.7 ผลิตภัณฑ์จากหมู เช่น แหนม (หมู ส้ม) ไส้กรอกเปรี้ยว (ไส้กรอกอีสาน) หนางหมู ส้มหูหมู เป็นต้น
วิธีการถนอมรักษา ถึงแม้จะเป็นอาหารชนิดเดียวกัน อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป แล้วแต่ท้องถิ่น
ส่วนประกอบ หรือเครื่องปรุง รวมทั้งปริมาณที่ใช้ยังแตกต่างอีกด้วย แต่หลักการในการทำคล้ายคลึงกัน
ตัวอย่างเช่น
แหนม ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไป แต่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เรียกว่า หมูส้ม ทำได้ โดยบดหรือตำกระเทียม และข้าวสุก เข้าด้วยกันพอหยาบๆ ผสมลงในเนื้อหมู
เติมเกลือคลุกเคล้าเข้ากัน เติมหนังหมูลงไป คลุกให้เข้ากันดี (ในสมัยโบราณไม่ใช้) แล้วปั้นเป็นก้อนๆ
ขนาดเท่าๆ กัน เพื่อความสวยงาม ห่อด้วยใบตอง รัดแน่นด้วยตอก หมักไว้ในที่ร่มประมาณ
2 - 3 วัน จึงจะรับประทานได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเกลือที่ใช้ และอุณหภูมิที่เก็บ
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีรสเปรี้ยว และเป็นก้อนเหนียว ไส้กรอกเปรี้ยว ทำจากเนื้อหมูปนมันหั่น
เป็นชิ้นเล็กๆ คลุกกับส่วนผสมอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยเกลือ พริกไทยป่น กระเทียมบด ข้าวสุกเล็กน้อย
คลุกให้เข้ากันดี แล้วบรรจุในไส้หมูที่ล้างสะอาดแล้ว ผูกแบ่งเป็นข้อๆ ยาวประมาณ1- 2 นิ้ว เพื่อสะดวกในการตัดแบ่งรับประทาน ผูกเสร็จแล้ว นำไปแขวนผึ่งลมให้น้ำมันหยดออก
ขณะเดียวกันจุลินทรีย์ที่มีบทบาทในการหมักจะผลิตกรดออกมา ทำให้มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย
เวลารับประทานนำมาย่างหรือทอดให้สุก รับประทานกับข้าว ไส้กรอกจะสามารถเก็บไว้ได้หลายวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใส่ข้าวสุกเพียงเล็กน้อย
หนางหมู เป็นอาหารของชาวพุทธบางจังหวัดในภาคใต้
ส่วนมากทำจากหูหมูต้มสุก หั่นเป็นชิ้นบางๆ หมักเกลือ 2 - 3 วัน แล้วนำออกมาปรุงรสด้วยน้ำตาลมะพร้าว
หยวกกล้วยดิบ หรือหน่อไม้ดอง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้ นานประมาณ 1 เดือน
ส้มหูหมู เป็นผลิตภัณฑ์ของชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดนครพนม ใช้หูหมูต้มสุกหั่นบางๆ เช่นเดียวกับหนางหมู คลุกกับกระเทียมเล็กน้อย
เกลือ พริกไทยป่น ผักที่ใช้ผสมแล้วแต่จะหาได้ แต่ส่วนมากนิยมใช้ต้นกระเทียมสดหั่นเป็นท่อนๆ
เติมน้ำตาล และข้าวเหนียวสุกเล็กน้อย หมักไว้รับประทานได้ในวันรุ่งขึ้น ส้มหูหมูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่แพร่หลายในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับหนางหมู ซึ่งในปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครรู้จัก
6.8 ผลิตภัณฑ์จากวัว/ควาย
เช่น หม่ำ (มั่ม) แหนมเนื้อ ไส้กรอกเนื้อ
หนางเนื้อ หนาง หัววัว ส้มตีนวัว หนังเค็ม เป็นต้น
อาหารหมักที่ทำจากเนื้อวัว หรือเนื้อควาย
ส่วนมากจะเป็นอาหารที่ทำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจาก "หนางเนื้อ" ซึ่งเป็นอาหารหมัก
ที่ทำกันในภาคใต้ การทำแหนมเนื้อ ก็เช่นเดียวกับแหนมหมู แต่ไม่ใช้หนัง เมื่อผสมแล้ว
ห่อใบตอง รัดให้แน่นหมักไว้ 2 - 3 วัน จนมีรสเปรี้ยวเกิดขึ้น นำมารับประทานโดยปิ้งให้สุก
ไส้กรอก หนางเนื้อ หนางหัววัว และส้มตีนวัว ก็เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์จากหมู เพียงแต่เรียกชื่อตามส่วนของวัวที่นำมาใช้เท่านั้น
ที่แตกต่างคือ หม่ำและหนังเค็ม ซึ่งจะกล่าวถึงวิธีทำพอสังเขป ดังนี้
หม่ำ ทำจากเนื้อวัว หรือเนื้อควาย เป็นส่วน
ใหญ่ ผสมกับตับ เพื่อให้รสดี ตามความชอบของแต่ละท้องถิ่น (หรืออาจจะมีปอดและม้ามผสมด้วย)
กระเทียม เกลือ ข้าวเหนียวคั่ว ดินประสิวเล็กน้อย ส่วนผสมเหล่านี้ไม่มีสูตรแน่นอน เมื่อนำส่วนผสมต่างๆ
คลุกเคล้ากันดีแล้ว ตั้งทิ้งไว้ค้างคืน ในภาชนะที่มีฝาปิด เช่น หม้อ รุ่งขึ้นนำมาบรรจุในไส้วัว
หรือกระเพาะ ซึ่งล้างสะอาดด้วยเกลือ และสารส้มจนหมดกลิ่น แล้วบรรจุส่วนผสมให้แน่น
(ในปัจจุบันใช้ไส้เทียม) ใช้เชือกรัดปลายให้แน่นทั้งสองด้าน แขวนผึ่งลมให้เกิดการหมัก
โดยทั่วไปจะนิยมรับประทานเมื่อรู้สึกว่าผิวภายนอกของไส้หรือกระเพาะแห้ง ซึ่งจะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย
หม่ำสามารถเก็บไว้ได้เป็นเดือนๆ แต่ในสมัยนี้ มักจะรับประทานกันตั้งแต่ยังสดอยู่
หนังเค็ม ทำจากหนังควายที่มีขนติดอยู่ โดยแล่เป็นชิ้นยาวๆ
กว้างประมาณ 1 - 2 ซม. คลุกเกลือเค็มจัด ขุดหลุม รองก้นหลุมด้วยใบตอง
เติมแกลบบนใบตอง แล้วจึงเอาหนังที่คลุกเกลือแล้ววางบนแกลบ กลบด้วยแกลบอีกครั้ง และด้านบนกลบด้วยดิน
ทิ้งให้หมักในหลุมดินประมาณ 2 - 3 คืน หรือจนไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า
เอาขึ้นมาตำด้วยครกกระเดื่อง โดยมีแกลบผสมอยู่กับหนังเค็มด้วย ตำจนหนังเค็มนุ่ม แล้วนำมาตากแดดให้แห้ง
จะสามารถเก็บไว้ได้นานหลายเดือน เมื่อจะรับประทานก็นำหนังเค็มมาเผาไฟ จนขนไหม้หมด แล้วแช่น้ำ
ล้างขูดส่วนที่ไหม้ออก จะได้หนังเค็มสีเหลืองอ่อน นำไปยำหรือใส่ในแกง เช่น แกงขี้เหล็ก
เป็นต้น
7. การดองอาหารอื่นๆ การดองไข่เค็ม
นอกจากดองไข่เป็ด หรือไข่ไก่ในน้ำเกลืออย่างเข้มข้นแล้ว
มีวิธีดองที่แตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบางทีเรียกไข่ชนิดนั้นว่า "ไข่พอก"
เพราะเกลือที่ใช้ดองจะผสมกับส่วนผสมอื่น ซึ่งได้แก่ ดินเหนียวค่อนข้างเหลว และแกลบหรือขี้เถ้า
คลุกเคล้าเกลือกับดินเหนียวให้เข้ากันดีทิ้งไว้ 1 - 2 คืน แล้วแผ่เป็นแผ่น
เพื่อพอกไข่ นำไข่ที่พอกแล้ว คลุกลงในแกลบหรือขี้เถ้าให้ทั่ว เก็บไข่พอกลงในโอ่งดิน
ปิดปาก หมักไว้ 15 - 30 วัน โดยไม่ให้ถูกแดด
การถนอมอาหารโดยการใช้ความร้อน
ปัจจุบันนิยมปรุงอาหารรับประทานโดยการต้ม
ทอด ปิ้ง นึ่ง และวิธีอื่น ๆ ที่ต้องใช้ความร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในอาหาร
เมื่อเรารับประทานอาหารไม่หมดหรือมีปริมาณอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก
เราก็จะถนอมอาหารด้วยการใช้ความร้อนกันเป็นส่วนมาก
หลักการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อน
คือ
การผ่านความร้อนลงในอาหารเพื่อทำลายจุลินทรีย์ในอาหารที่สำคัญได้แก่
การใช้ความร้อน
การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อน หมายถึง
การใช้ความร้อนฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในอาหารเพื่อป้องกันการเน่าเสีย
ทำโดยการเพิ่มอุณหภูมิ ผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น
ส่วนใหญ่จะนิยมการต้ม การใช้ความร้อนทำได้ 3 วิธี คือ
1.1การพาสเจอไรส์
เป็นการใช้ความร้อนที่ต่ำกว่าจุดเดือด
ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดทำให้เกิดโรคในอาหารแต่จะฆ่าได้ไม่ทั้งหมด
ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพาสเจอร์ไรส์นี้จะต้องเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อ ป้องกันการเน่าเสียระหว่างเก็บ
1.2 การสเตอริไลส์ เป็นการใช้ความร้อนที่อุณภูมิสูงกว่าจุดเดือด (มากกว่า 100 องศาเซลเซียส) ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้เกือบหมด
ยกเว้นจุลินทรีย์ที่ความร้อนมาก ๆ ได้
ผลิตภัณฑ์สเตอริไลส์สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น แต่ต้องบรรจุในภาชนะสะอาดและผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว
และปิดฝาสนิท
1.3 ใช้ความร้อนที่สูงกว่าอุณหภูมิน้ำเดือด โดยอาศัยความดันช่วย วิธีนี้นิยมนำไปใช้ใอาหารบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง
ซึ่งมักจะใช้อาหารที่มีความเป็นกรดต่ำเป็นวัตถุดิบ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก เป็นต้น
2. การถนอมอาหารโดยการทำแห้ง
การทำแห้ง หมายถึง
การกำจัดน้ำหรือลดปริมาณความชื้อนออกจากอาหารเพื่อยับยั้งปฏิกิริยาของเอนไซม์
และสารเคมีต่าง ๆ ที่จะทำให้อาหารเน่าเสีย
และนอกจากนี้ยังสามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นาน
การทำให้แห้งที่นิยมใช้กันทั่วไปมี
3 วิธี ดังนี้
1 วิธีทางธรรมชาติ
คือ การผึ่งแดด ผึ่งลม ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันมาแต่โบราณ โดย การนำเอาผัก
ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่ต้องการทำให้แห้ง
ใส่ลงในตะแกรงหรือสังกะสีตั้งไว้กลางแดดหรือกลางแจ้ง ให้ได้รับความร้อนจากแสงแดด
มีลมพัดผ่านที่จะทำให้ความชื้นในเนื้อสัตว์หรือผัก ผลไม้ระเหยออกไปจนแห้ง
จากนั้นนำมาเก็บใส่ภาชนะปิดฝาให้สนิท
2ใช้เครื่องมือช่วย
เช่น เครื่องอบแห้ง เตาอบ เตาไมโครเวฟ เป็นต้น
3 การรมควัน
นิยมใช้ในการเก็บรักษาปลา และเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ในรูปของปลาย่างเนื้อ
ย่าง วิธีทำ
ขั้นต้อนต้องล้างปลาให้สะอาดอาจใช้เกลือทา หรือแช่น้ำเกลือก่อน
แล้วนำไปว่างบนตะแกรงไม้ไผ่เหนือกองไฟ ใช้กาบมะพร้าว ชานอ้อย
หรือขี้เลื่อยเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดควัน
ครอบเตาด้วยภาชนะที่สามารถเก็บควันให้รมปลาอยู่ภายในได้
ใช้ถ่านทำให้เกิดความร้อนและมีควันออกมาจับผิดปลาจนเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง มีกลิ่นหอมนำออกไปแขวนผึ่งลม
สามารถเก็บไว้ได้นาน 2-3 เดือน
3. การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น
การใช้ความเย็นหมายถึง
การทำให้อาหารคงสภาพเดิม โดยใช้ความเย็นที่ระดับอุณหภูมิต่ำ แต่ไม่ถึงจุดเยือกแข็ง
ซึ่งวิธีนี้จะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ชะลอการเน่าเสียและลดอัตราการเปี่ยนเปลงทางเคมีของอาหาร
การใช้ความเย็นจะทำได้โดยการแช่น้ำแข็ง การใช้น้ำแข็งแห้ง การบรรจุภัณฑ์ในถุง
กล่องกระดาษหรือกล่องพลาสติกแล้วนำไปแช่แข็ง
4. การถนอมอาหารโดยการใช้น้ำตาล
การถนอมอาหารโดยการใช้น้ำตาลเป็นการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
ช่วยทำให้เก็บรักษาอาหารให้อยู่ได้นานโดยไม่เน่าเสีย ซึ่งมีหลายวิธี ดังนี้
4.1 การเชื่อม การใช้น้ำและน้ำตาลใส่ภาชนะตั้งไฟเคี่ยวให้น้ำตาลละลายเหนียวจนเป็นน้ำเชื่อมก่อน
จากนั้นจึงใส่อาหารลงเคี่ยวต่อไปด้วยไฟอ่อน ๆ จนอาหารนั้นอิ่มชุ่มด้วยน้ำเชื่อม
อาหารที่นิยมนำมาเชื่อม ได้แก่ กล้วย เผือก มัน มะยม ฟักทอง เป็นต้น
การเชื่อมแบบ่งออกได้
3 วิธี ได้แก่ การเชื่อมแบบธรรมดา
การเชื่อมแบบแช่อิ่ม และการเชื่อมโดยการฉาบ
1การเชื่อมแบบธรรมดา จะใช้น้ำตาลไปคลุกเคล้าหรือผสมในอาหารที่ต้องการ
เพื่อให้น้ำตาลไปยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร
ทำให้อาหารยังคงสภาพอยู่ได้นานโดยไม่เน่าเสีย เช่น ลูกตาลเชื่อม กล้วยเชื่อม
เป็นต้น
2 การแช่อิ่ม เป็นการนำเอาผักหรือผลไม้ไปแช่ในน้ำเชื่อม
เพื่อให้น้ำเชื่อมซึมเข้าสู่ผักหรือผลไม้แบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งเกิดการอิ่มตัว
ซึ่งสามารถทำได้โดยเพิ่มความเข้มข้นของน้ำเชื่อมด้วยการรินน้ำเชื้อมออกอุ่นแล้วเติมน้ำตาลลงไป
หรือต้มน้ำเชื่อมจนงวดลงเพื่อให้ข้นขึ้นแล้วจึงเอาผักหรือผลไม้ลงแช่ ทำเช่นนี้ 3-4 ครั้ง จนน้ำเชื่อมไม่สามารถซึมเข้าไปในผักหรือผลไม้ได้อีก ผลไม้ที่นิยมนำมาแช่อิ่ม
เช่น มะม่วง มะขาม มะกอก มะยม เป็นต้น
3 การฉาบ เป็นการนำเอาผักหรือผลไม้ที่ทำสุกแล้ว เช่น
เผือกทอด มันทอด กล้วยทอด เป็นต้น
วิธีฉาบคือเคี่ยวน้ำตาลให้เป็นน้ำเชื่อมแก่จัดจนเป็นเกล็ด
แล้วเทลงผสมคลุกเคล้ากับของที่ทอดไว้ ทิ้งไว้ให้เย็นจนน้ำเชื่อมเกาะเป็นเกล็ดติดอยู่บนผิวอาหารที่ฉาบ
4.2 การกวน คือ การนำเอาเนื้อผลไม้ที่สุกแล้วผสมกับน้ำตาล
ใช้ความร้อนปานกลางแล้วค่อยลดลงต่ำ ใช้ไม้พายคนหรือกวนไปเรื่อย ๆ
เพื่อให้น้ำระเหขออกจนกระทั่งเนื้อผลไม้ข้นเหนียว
มีรสหวานจัดแล้วจึงยกลงจากเตาทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำเก็บใส่ขวดหรือหม้อปิดฝาให้สนิท
เก็บไว้รับประทานได้หลายวัน ผลไม้ที่นิยมนำมากวน เช่น มะม่วง ทุเรียน สับปะรด
เป็นต้น
4.3 การทำแยม เป็นการต้มเนื้อผลไม้ปนกับน้ำตาลด้วยไฟอ่อนในระยะแรก แล้วค่อย ๆ
เพิ่มไฟขึ้นทีละน้อย หมั่นคนสม่ำเสมอ จนกระทั่งแยมเหนียวตามต้องการ กล่าวคือ
เมื่อใช้ช้อนตักขึ้นแล้ว
ตะแคงช้อนเพื่อเทลงมา
ถ้าระหว่างเทนี้แยมติดอยู่ที่ช้อนหรือไหลลงมาเป็นแผ่นเหนียว ๆ ก็ถือว่าใช้ได้
ผลไม้ที่นิยมนำมาทำแยม ได้แก่ สับปะรด ส้ม สตรอเบอรี่ มะปราง เชอรี่ แตงไทย
กระเจี๊ยบ แตงโม ชมพู่ เป็นต้น
5. การถนอมอาหารโดยการหมักดอง
การถนอมอาหารโดยการหมักดอง
เป็นวิธีการถนอมอาหารโดยการใช้เกลือ น้ำสม น้ำตาล
เป็นส่วนประกอบหลักซึ่งอาศัยจุลินทรีย์บางชนิด เป็นตัวช่วยย่อยสลาย
อาจจะเติมข้าวคั่ว เครื่องเทศ หรือน้ำซาวข้าวด้วยก็ได้
เพื่อช่วยเร่งปฏิกิริยาในการหมักดอง เพื่อให้อาหารนั้นมีรสเปรี้ยวหรือกลิ่นตามที่ต้องการ
การหมักดองส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน หรือหลายเดือน
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาหมักดอง เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ เป็นต้น
สำหรับการทำกะปิ น้ำปลา ซีอิ้ว น้ำส้มสายชู เต้าเจี๊ยบสวนใหญ่จะใช้เวลาหมักนานประมาณ
4-9 เดือน
การหมักดองแบ่งออกเป็น
5 วิธี ดังนี้
5.1 การดองเปรี้ยว ผักที่นิยมนำมาดอง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ผักเสี้ยน ถั่วงอก เป็นต้น
วิธีทำคือนำเอาผักมาเคล้ากับเกลือ โดยผสมน้ำเกลือกบน้ำส้มต้มให้เดือด
ทิ้งไว้ให้เย็น นำมาเทราดลงบนผักที่เรียงไว้ในภาชนะ
เทให้ท่วมผักปิดฝาภาชนะไม่ให้ลมเข้า หมักทิ้งไว้ 4-7 วัน
ก็นำมารับประทานได้
6. การถนอมอาหารโดยการใช้สารเคมี
การถนอมอาหารโดยการใช้สารเคมีเป็นการป้องกันการเสื่อมเสียของอาหารเนื่องจากจุลินทรีย์ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์รวมถึงปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัส
กลิ่น รส ของอาหาร และป้องกันการเหม็นหืนของอาหาร เป็นการใช้รังสีที่แตกตัวได้ (ionizing
radiation) ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่และตัวอ่อนแมลง
และยับยั้งการงอกของผักและผลไม้ แต่ถ้าใช้รังสีในปริมาณที่มากเกินไป
อาจเกิดการสูญเสียวิตามินในอาหารได้ เช่น
แหนม ผ่านการฉายรังสี บริโภคได้โดยไม่ต้องปรุงสุกด้วยความร้อน
เนื่องจากพยาธิหรือตัวจี๊ดในแหนมถูกทำลาย
7.การใช้รังสี เป็นการใช้รังสีที่แตกตัวได้ (ionizing
radiation) ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์
ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่และตัวอ่อนแมลง
และยับยั้งการงอกของผักและผลไม้ แต่ถ้าใช้รังสีในปริมาณที่มากเกินไป
อาจเกิดการสูญเสียวิตามินในอาหารได้ เช่น
แหนม ผ่านการฉายรังสี บริโภคได้โดยไม่ต้องปรุงสุกด้วยความร้อน
เนื่องจากพยาธิหรือตัวจี๊ดในแหนมถูกทำลาย
การถนอมอาหารในปัจจุบัน
การถนอมอาหารในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี
เพื่อแปรรูปวัตถุดิบที่มีเป็นจำนวนมากพร้อม ๆ กัน เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป
หรือปรับปรุงกรรมวิธีการถนอมอาหารในสมัยโบราณให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งในด้านความสะอาด
สี กลิ่น รส เนื้อ สัมผัส และเพื่อยืดอายุการเก็บอาหารนั้น
การถนอมอาหารด้วยวิธีสมัยใหม่เพื่อการค้าจะต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน
ได้แก่ เคมีฟิสิกส์ ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และสถิติประกอบด้วยความรู้พื้นฐานทางสังคมธุรกิจและการจัดการ
ควบคู่กับความรู้ในการแปรรูปผลิตผลการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่หรือปรับปรุงของเดิมให้ดียิ่งขึ้น
ทั้งในลักษณะที่มองเห็นหรือสัมผัสได้ เช่น สี กลิ่น ความนุ่ม เหนียว เป็นต้น และสิ่งที่มองไม่เห็น
เช่น คุณค่าทางโภชนาการ
ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป หมายถึงอาหารที่ได้ผ่านขั้นตอน
การหุงต้มหรือกระบวนการแปรรูปผลิตผลการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้อาหารนั้นสามารถเก็บได้เป็นเวลานานพอสมควรโดยไม่เน่าเสีย
และสามารถดื่มหรือรับประทานได้ทันทีเมื่อต้องการ ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ที่รู้จักแพร่หลาย
คือ อาหารบรรจุกระป๋อง เช่น สับปะรดกระป๋อง หรือบรรจุกล่อง เช่น สมสด
ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูป หมายถึง
อาหารที่ได้ผ่านขั้นตอนการหุงต้มหรือกระบวนการแปรรูปแล้วสามารถเก็บไว้ได้นาน เช่นเดียวกัน
แต่จะต้องนำไปหุงต้ม และปรุงรสหรือปรุงแต่งก่อน จึงจะรับประทานได้ เช่น น้ำผลไม้เข้มข้น
ซึ่งต้องผสมน้ำก่อนดื่มน้ำพริกแกง ซึ่งต้องนำไปปรุงรสหรือเติมส่วนประกอบอื่น ๆ เช่น
ผัก ก่อนรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซุปผง ซึ่งต้องนำไปต้มกับน้ำก่อนรับประทาน เป็นต้น
ในที่นี้จะกล่าวถึงกรรมวิธีถนอมอาหารที่ใช้กันมากในปัจจุบัน
คือ :-
1. การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนสูง เช่น ผลิตภัณฑ์กระป๋อง
2. การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น เช่น ผลิตภัณฑ์เยือกแข็ง
3. การถนอมอาหารโดยการทำให้แห้ง เช่น ปลาหยองกาแฟผง
4. การถนอมอาหารโดยการหมักดอง เช่น ซีอิ้ว น้ำส้มสายชู
5. การถนอมอาหารโดยใช้รังสี เช่น หอมหัวใหญ่อาบรังสี
การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนสูง
การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อน
หมายถึง
การฆ่าเชื้อในอาหารที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท
เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายหรือเน่าเสียที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์หรือจากปฏิกิริยาของเอนไซม์
การฆ่าเชื้อโดยความร้อนมี 3 ระดับ คือ :-
1. การฆ่าเชื้อ
หมายถึง การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนสูงภายใต้ความดัน
เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั้งหมดถูกทำลาย (ความร้อนสูง หมายถึง ความร้อนที่เท่ากับหรือสูงกว่าอุณหภูมิของน้ำเดือด)
2. การฆ่าเชื้อระดับปฏิบัติ
หมายถึง การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนสูง
เพื่อทำลายจุลินทรีย์บางส่วนหรือส่วนมากเพื่อให้อาหารนั้น ๆ สามารถบริโภคได้โดยไม่เป็นอันตราย
และสามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียในภาวะปกติ
โดยทั่วไปการฆ่าเชื้อในอาหารในภาชนะที่ปิดสนิท
ที่อากาศไม่สามารถซึมผ่านเข้าออกได้ เช่น กระป๋องโลหะ ขวด จะทำการฆ่าเชื้อในระดับปฏิบัติการเท่านั้น
ทั้งนี้เพราะการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหารให้หมดนั้นเป็นการทำที่ยากมาก จึงกระทำในระดับ
ที่ไม่เหลือจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
จะใช้คำว่า "การฆ่าเชื้อ" แทนคำว่า "การฆ่าเชื้อในระดับปฏิบัติ"
4. การฆ่าเชื้อแบบปาสเตอร์
หมายถึง การถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนต่ำกว่าอุณหภูมิของน้ำเดือด
(ต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส) เพื่อทำลายจุลินทรีย์บางส่วนแต่ทั้งนี้ต้องดำเนินควบคู่กับสภาวะอย่างอื่น
เช่น เก็บที่อุณหภูมิต่ำ หรืออาหารนั้นมีกรด-ด่างต่ำ หรือมีปริมาณน้ำตาลหรือเกลือสูง
การแบ่งกลุ่มอาหารตามความเป็นกรด-ด่าง ค่าความเป็นกรด-ด่างของอาหารที่จะบรรจุในภาชนะ
มีความสำคัญต่อการแปรรูปอาหารด้วยความร้อนสูง ทั้งนี้
เพราะค่าความเป็นกรด-ด่างเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอุณหภูมิในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
ในกรรมวิธีผลิตอาหารกระป๋อง ความเป็นกรด-ด่าง ในอาหารวัดได้
โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า
พี เอช มิเตอร์ (pH meter) ซึ่งมีช่วงตั้งแต่
1-14คือ ถ้าความเป็นกรดในอาหารสูงมาก
ค่า พี เอช = 0 แต่ถ้าความเป็นด่างในอาหารสูงมาก ค่า พี เอช
= 14 หรือ ถ้าอาหารเป็นกลาง ไม่เป็นกรดหรือเป็นด่าง ค่า พี เอช
= 7
นักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารได้แบ่งกลุ่มอาหารที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิทเป็นกลุ่มใหญ่ๆ
2 กลุ่มคือ
1.
กลุ่มอาหารที่เป็นกรด (acid foods)
คือ อาหารที่มีค่า พี เอช ต่ำกว่า 4.5
ส่วนมากเป็นพวกผลไม้เช่น สับปะรด ส้ม หรือผักที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะเขือเทศ
กระเจี๊ยบแดง เป็นต้น อุณหภูมิที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ คือ 100 องศาเซลเซียส ทั้งนี้เพราะจุลินทรีย์ที่เจริญและขยายพันธุ์ได้ในอาหารที่เป็นกรด
เป็นชนิดที่ไม่ทนความร้อน
2.
กลุ่มอาหารที่เป็นกรดต่ำ (low acid foods) คือ
อาหารที่มีค่า พี เอช 5.5 หรือสูงกว่า ส่วนมากจะเป็นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผักต่างๆ
เช่น เนื้อ หมู ปลา ข้าวโพดฝักอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น อุณหภูมิที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์
คือ 116 องศาเซลเซียส หรือ121องศาเซลเซียส
ทั้งนี้แล้ว แต่ส่วนประกอบและคุณลักษณะของอาหารที่บรรจุในกระป๋อง
การถนอมอาหารโดยใช้ความเย็น
การใช้ความเย็นเพื่อเก็บรักษาอาหาร
สามารถทำได้หลายวิธี แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงการเก็บรักษาควรจะรู้จักความหมายของคำต่อไปนี้ก่อนคือการให้ความเย็น
หมายถึง กรรมวิธีการกำจัดความร้อนออกจากสิ่งของหรือพื้นที่ที่ต้องการทำให้เย็นหรือต้องการให้มีอุณหภูมิลดลง
ซึ่งการทำให้เย็นลงนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ :-
1. การแช่เย็น หมายถึง การทำให้อุณหภูมิของสิ่งของนั้นลดลงแต่อยู่เหนือจุดเยือกแข็งของสิ่งนั้นโดยของสิ่งนั้นยังคงสภาพเดิมอยู่
ความเย็น จะไม่สามารถทำลายจุลินทรีย์ แต่จะช่วยชะลอการเจริญของจุลินทรีย์ที่จะทำให้อาหารเน่าเสีย
และจะช่วยลดปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของอาหาร
ดังนั้นการแช่เย็น อาหารจึงเป็นการช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหารเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
2. การแช่แข็ง หมายถึง การทำให้อุณหภูมิของสิ่งของนั้น
ลดลงต่ำกว่าจุดเยือกแข็งของสิ่งนั้น การแช่แข็งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพในองค์ประกอบของสิ่งของที่ถูกทำให้เย็นลง
เช่น ในกรณีที่เป็นอาหาร ความเย็นจัดจะทำให้น้ำในเนื้อเยื่อของอาหารแปรสภาพเป็นน้ำแข็ง
ซึ่งจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในอาหารไม่สามารถนำไปใช้ได้ แต่ความเย็นจัดไม่ได้ทำลายจุลินทรีย์ให้ตาย
ดังนั้น การแช่แข็งจึงไม่สามารถถนอมอาหารได้สมบูรณ์
แต่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้นและนานกว่าการแช่เย็น
กรรมวิธีการถนอมอาหารด้วยความเย็น
1. การใช้น้ำแข็ง ความเย็นของน้ำแข็งที่ใช้ในการแช่อาหาร
จะทำให้อุณหภูมิของอาหารลดลงได้เร็ว และถ้ามีปริมาณเพียงพอจะทำให้อาหารนั้นเย็นลงจนมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับ
0 องศาซ. เหมาะสำหรับการเก็บรักษาสัตว์น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาสด
ซึ่งจะสามารถเก็บไว้ได้นานประมาณ 1 สัปดาห์
2. การใช้สารผสมแช่แข็ง การใช้น้ำแข็งผสมเกลือแกง
หรือเกลืออนินทรีย์อื่นๆ จะทำให้สารผสมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 0 องศาซ. ทั้งนี้เพราะจุดเยือกแข็งของน้ำบริสุทธิ์ที่ 1 บรรยากาศ มีค่าเท่ากับ 0 องศาซ. แต่ถ้ามีการเติมสารที่แตกตัวได้เช่นเกลือแกง
จะทำให้จุดเยือกแข็งลดลง เช่น ถ้าเติมเกลือแกงลงไปในน้ำแข็งในอัตราส่วน 1 : 3 จะทำให้อุณหภูมิของน้ำแข็งนั้นลดลงถึง –18 องศาซ. ซึ่งในสมัยก่อนใช้วิธีนี้มากในการปั่นไอศกรีมโดยใช้มือหมุนถัง ทำให้ส่วนผสมของไอศกรีมแข็งตัวเร็วขึ้น
ปัจจุบันใช้วิธีนี้ในการเก็บรักษาปลาสด และการรักษาความเย็นของอาหารแช่แข็งที่บรรจุในภาชนะสำหรับการขนส่ง
3. การใช้น้ำแข็งแห้ง น้ำแข็งแห้ง คือ
คาร์บอนไดออกไซด์ที่เย็นจนแข็ง มีอุณหภูมิประมาณ -80 องศาซ. ใช้ในการเก็บรักษาอาหารที่ผ่านการแช่แข็งมาแล้วเหมาะสำหรับการขนส่งในระยะเวลา
3-4 วัน แต่ไม่เหมาะสำหรับการให้ความเย็นโดยให้น้ำแข็งแห้งสัมผัสกับอาหารโดยตรง
เนื่องจากมีความแตกต่างกันมากระหว่างอุณหภูมิของอาหารกับน้ำแข็งแห้ง อาจทำให้ผิวสัมผัสของอาหารเสียหายได้
4. การใช้ไนโตรเจนเหลว ไนโตรเจนเหลวที่ความดันปกติจะระเหยกลายเป็นไอที่อุณหภูมิ
-196 องศากซ. อุณหภูมินี้เป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่สามารถจะทำให้อาหารเย็นลงได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากไนโตรเจนเป็นก๊าซเฉื่อยไม่เป็นอันตรายกับอาหารและผู้บริโภค จึงนิยมนำมาใช้กับอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะในปัจจุบัน
แต่ไม่นิยมแช่อาหารสดในไนโตรเจนเหลว ส่วนมากจะใช้ร่วมกับเครื่องทำความเย็นแบบสายพาน
จะเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องทำความเย็น เหมาะสำหรับการแช่แข็งอาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารสำเร็จรูปแทบทุกชนิด
5. การใช้เครื่องทำความเย็น เครื่องทำความเย็นที่ใช้กันโดยทั่วไปโดยเฉพาะตามบ้านเรือนคือ
ตู้เย็น ปัจจุบันตู้เย็นมีช่องทำความเย็นแยกส่วนกัน บางชนิดมี 2 ช่อง คือ ช่องเก็บอาหารทั่วไป อุณหภูมิประมาณ 4 องศาซ.
กับช่องแช่แข็ง อุณหภูมิประมาณ -10 องศาซ. ตู้เย็นบางชนิดแยกเป็นหลายส่วน
โดยมีช่องเก็บอาหารพิเศษบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น ที่เก็บผักสด
6. การใช้เครื่องทำความเย็น ในระบบอุตสาหกรรม
การทำอุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง จำเป็นต้องใช้เครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูง จึงจะทำให้คุณภาพของอาหารแช่แข็งมากที่สุด
ขณะนี้อาหารแช่แข็งที่ทำเป็นอุตสาหกรรมและส่งขายต่างประเทศ ในแต่ละปีซึ่งนำเงินตราต่างประเทศเข้าเป็นจำนวนมาก
คือ กุ้งเยือกแข็ง และไก่สดเยือกแข็ง
..............................................................................................................................................................................................................
..............................................................................................................................................................................................................
ข้าวนับเป็นพืช ที่มนุษย์รู้จักมาตั้งแต่สมัยอดีต
และถือเป็นอาหารหลักของคนทั่วโลก
สำหรับคนไทย ข้าว เป็นพืชที่หล่อเลี้ยงชีวิตมานาน และอยู่คู่คนไทยมานานแล้ว
นักเรียนต้องมีความรู้เรื่อง ข้าว ลักษณะพิเศษของข้าว
ลักษณะที่าคัญของข้าวแบ่งออกได้เป็นลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต
และลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ ดังนี้
๑. ลักษณะที่เกี่ยวกับการเจริญเติบโต
ลักษณะที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของต้นข้าว
ได้แก่ ราก ลำต้น และใบ
ส่วนต่างๆของต้นกล้าซึ่งเพาะให้งอกในที่มีแสงแดด
ส่วนต่างๆของต้นกล้า
ซึ่งเพาะให้งอกในที่มีแสงแดด ราก
เป็นส่วนที่อยู่ใต้ผิวดิน
ใช้ยึดลำต้นกับดิน เพื่อไม่ให้ต้นล้ม แต่บางครั้งก็มีรากพิเศษเกิดขึ้นที่ข้อ ซึ่งอยู่เหนือพื้นดินด้วย
ต้นข้าวไม่มีรากแก้ว แต่มีราก ฝอยแตกแขนงกระจายอยู่ใต้ผิวดิน ด้วยเหตุนี้รากของ ข้าวจึงไม่ได้อยู่ลึกมากจากพื้นผิวดิน
แต่ละแขนงของ รากฝอยจะมีรากขนอ่อน รากของต้นข้าวนอกจากจะ เกิดที่โคนต้นแล้ว รากอาจเกิดขึ้นที่ข้อซึ่งอยู่ใต้ดินและ
อยู่ใต้น้ำด้วย ต้นข้าวใช้รากสำหรับดูดเอาอาหารจากดิน อาหารของต้นข้าวประกอบด้วย แร่ธาตุต่างๆ
และน้ำ อาหารเหล่านี้ จะถูกส่งไปที่ใบ เพื่อเปลี่ยนเป็นแป้ง โดยวิธีการที่เรียกว่า
สังเคราะห์แสง
ลำต้น
มีลักษณะเป็นโพรงตรงกลางและแบ่งออกเป็นปล้องๆ
โดยมีข้อกั้นระหว่างปล้อง ความยาวของปล้องนั้นแตกต่างกัน จำนวนปล้องจะเท่ากับจำนวนใบของต้นข้าว
ปกติมีประมาณ ๒๐-๒๕ ปล้อง ปล้องซึ่งอยู่ที่โคนต้น จะสั้นกว่าและหนากว่าปล้อง ซึ่งอยู่ที่ปลายของลำต้น
นอกจากนี้ ปล้องซึ่งอยู่ที่โคนจะมีขนาดโตกว่าปล้อง ที่อยู่ตรงส่วนปลาย ยกเว้นข้าวขึ้นน้ำ
ที่ต้องยืดต้นให้สูง เมื่อมีน้ำลึก ปล้องของข้าวขึ้นน้ำยาวมาก และปล้องที่อยู่ใกล้ผิวน้ำ
จะโตกว่าที่อยู่ลึกลงไปในน้ำ ที่ข้อ ซึ่งเป็นส่วนที่แบ่งลำต้นออกเป็นปล้องๆ นั้น มีตา
สำหรับเจริญเติบโตออกมาเป็นหน่อ ข้อละหนึ่งตา และอยู่สลับกันไปจากข้อหนึ่งไปอีกข้อหนึ่ง
สีของข้อก็แตกต่างกันไป ตามชนิดของพันธุ์ข้าว ซึ่งอาจจะเป็นสีเหลือง หรือสีม่วงก็ได้
ส่วนความยาวของปล้องนั้น ก็แตกต่างไปตามชนิดของพันธุ์ พันธุ์ต้นสูงจะมีปล้องยาวกว่าพันธุ์ต้นเตี้ย
ต้นข้าวถูกห่อด้วยกาบใบ จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นลำต้น หรือปล้องของต้นข้าวในระยะแตกกอ
แต่ต้นข้าวมีการยืดลำต้นสูงในระยะออกรวง จนสามารถมองเห็นลำต้นได้ ต้นข้าวกำลังงอก
ต้นข้าวมีใบไว้สำหรับทำการสังเคราะห์แสง
เพื่อเปลี่ยนแร่ธาตุ อาหาร น้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ ให้เป็นแป้ง เพื่อใช้ในการเจริญเติบโต
และสร้างเมล็ดของต้นข้าว ใบประกอบด้วย กาบใบและแผ่นใบ กาบใบ และแผ่นใบ เชื่อมติดกันด้วยข้อต่อของใบ
กาบใบ คือ ส่วนที่ติดอยู่กับข้อของลำต้น และห่อหุ้มต้นข้าวไว้ แต่ละข้อมีเพียงหนึ่งกาบใบเท่านั้น
แผ่นใบ คือ ส่วนที่อยู่เหนือ ข้อต่อของใบ มีลักษณะเป็นแผ่นแบนบางๆ พันธุ์ข้าวแต่ละพันธุ์จะมีความยาว
ความกว้าง รูปร่าง สีของใบ ตลอดถึงการทำมุมของใบกับลำต้นไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ที่แผ่นใบของข้าวบางพันธุ์
ก็มีขนหรือไม่มีขนด้วย เมื่อใช้มือจับแผ่นใบที่มีขน จะรู้สึกว่าใบนั้นไม่เรียบ แต่แผ่นใบที่ไม่มีขน
จะรู้สึกเรียบๆ ใบข้าวมีขนาดรูปร่างแตกต่างกันไป ตามชนิดของพันธุ์ข้าว และบางพันธุ์มีแผ่นใบทำมุมกว้าง
หรือทำมุมแคบกับลำต้น เส้นใบของข้าวมองเห็นได้ชัด จากด้านบนของแผ่นใบ เส้นใบจะขนานกัน
เพราะข้าวเป็นพืชพวกใบเลี้ยงเดี่ยว ใบข้าว ใบสุดท้าย ซึ่งหมายถึง ใบที่อยู่ติดกับรวงข้าว
เรียกว่า ใบธง ปกติใบธงจะมีลักษณะสั้น และทำมุมกับลำต้น แตกต่างจากใบอื่นๆ ที่อยู่ข้างล่าง
ที่ข้อต่อของใบ
ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างกาบใบ และแผ่นใบ มีลักษณะคล้ายๆ กับข้อที่กั้นแบ่งต้นข้าวออกเป็นปล้องๆ
และที่ข้อต่อของใบนี้ มีเยื่อกันน้ำฝน และเขี้ยวกันแมลงติดอยู่ด้วย เขี้ยวกันแมลงมีสองอัน
ลักษณะเป็นพู่คล้ายหางกระรอก ติดอยู่ข้างละอันของข้อต่อของใบ ส่วนเยื่อกันน้ำฝนนั้น
มีอันเดียว มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ อยู่ด้านในของข้อต่อของใบ และประกบติดอยู่กับลำต้น
เยื่อกันน้ำฝนมีขนาดและสีแตกต่างกันไป ตามชนิดของพันธุ์ข้าว อย่างไรก็ตาม ใบแก่ๆ อาจไม่มีเขี้ยวกันแมลงเหลือติดอยู่เลย
เพราะได้ร่วงหล่นไปเสียแล้ว
ต้นข้าวต้นเดียวอาจแตกออกเป็นหน่อใหม่
ประมาณ ๕-๑๕ หน่อ หน่อใหม่ที่แตกออกมา จะมีจำนวนใบน้อยกว่าต้นแรกของมัน และบางหน่ออาจไม่มีรวง
๒. ลักษณะที่เกี่ยวกับการขยายพันธุ์
ต้นข้าวมีการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างเกสรตัวผู้
และเกสรตัวเมีย เพราะฉนั้น ลักษณะที่สำคัญเกี่ยวกับการ ขยายพันธุ์ ได้แก่ รวง ดอกข้าว
และเมล็ดข้าว
ส่วนต่างๆของรวงข้าว
หมายถึง
ช่อดอกของข้าว (inflorescence)
ซึ่งเกิดขึ้นที่ข้อของปล้องอันสุดท้ายของต้นข้าว ระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องอันสุดท้าย
กับข้อต่อของใบธง เรียกว่า คอรวง ดังนั้น คอรวงจะสั้นหรือยาว ย่อมขึ้นอยู่กับระยะระหว่างข้ออันบนของปล้องสุดท้ายกับข้อต่อ
ของใบธง ชาวนาในภาคใต้ที่เก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกระ มีความต้องการจะปลูกข้าว ชนิดที่มีคอรวงยาว
แต่ชาวนาที่เก็บเกี่ยวด้วยเคียวนั้น ไม่คำนึงถึงความยาวของคอรวงเลย นอกจากนี้ ที่ข้ออันบนของปล้องอันสุดท้ายอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
ฐานของรวง หรือฐานของช่อดอก
รวงข้าวประกอบด้วยก้านอันใหญ่ต่อจากคอรวงขึ้นไป
แล้วแตกแขนงแบบราซีมอสโมดบรานชิง (racemose mode branching) ออกไปมากมาย โดยแต่ละข้อของก้านอันใหญ่แตกแขนงออกไปเรียกว่า แขนงที่หนึ่ง
(primary branches) และแต่ละข้อของแขนงที่หนึ่ง จะแตกแขนงออกไปอีกเป็นแขนงที่สอง
(secondary branches) ดอกข้าว (spikelets) มีก้านดอก ซึ่งเรียกว่า เพดิเซล (pedicel) จะติดอยู่ที่แขนงที่สองของรวงข้าว
ลักษณะของรวงข้าว เช่น ความยาว รูปร่าง ความถี่ห่างของข้อของแขนงหรือระแง้ ตลอดถึงมุมของการแตกแขนงออกไปเป็นแขนงที่หนึ่งและแขนงที่สองนั้น
แตกต่างกันไป ตามชนิดของพันธุ์ข้าว การมีข้อของแขนงที่หนึ่ง และแขนงที่สองถี่นั้น เรียกว่า
ระแง้ถี่ ทำให้มีจำนวนดอกต่อรวงมาก ซึ่งเป็นลักษณะของพันธุ์ข้าวที่จะให้ผลิตผลสูง
หมายถึง
ส่วนที่มีเกสรตัวผู้และเกสร ตัวเมียสำหรับผสมพันธุ์ ดอกข้าวประกอบด้วย เปลือกนอกใหญ่สองแผ่นประสานกัน
เพื่อห่อหุ้มส่วนที่อยู่ภายในไว้ เปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก เรียกว่า เลมมา (lemma) ส่วนเปลือกนอกใหญ่แผ่นใน เรียกว่า พาเลีย (palea) ทั้งสองเปลือกนี้
ภายนอกของมันอาจมีขน หรือไม่มีขนก็ได้ ถ้าที่เปลือกนี้ไม่มีขน ที่ใบของมันก็มักจะไม่มีขนและผิวเรียบด้วย
ที่ปลายสุดของเปลือกนอกใหญ่แผ่นนอก จะมีลักษณะเป็นปลายแหลมยื่นออกมา เรียกว่า หาง
(awn) พันธุ์ข้าวบางพันธุ์มีหางสั้น บางพันธุ์มีหางยาว พันธุ์ที่มีหางยาว
เป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ เพราะทำให้เก็บเกี่ยว และนวดยาก นอกจากนี้ อาจทำให้ผู้เข้าไปเก็บเกี่ยวเกิดเป็นแผลตามผิวหนังได้ง่าย
ที่ปลายด้านล่างของเปลือกนอกใหญ่ทั้งสองแผ่นเท่านั้น ที่ประสานติดกันอยู่บนก้านสั้นๆ
ที่เรียกว่า ราชิลลา (rachilla) และที่ด้านบนของราชิลลานี้ จะมีแผ่นบางๆ
สองแผ่นขนาดเท่าๆ กัน ทำหน้าที่บังคับให้เปลือกนอกทั้งสองแผ่นดังกล่าว เปิดหรือปิดได้
แผ่นบางๆ สองแผ่นนี้ เรียกว่า โลดิคูลส์ (lodicules) ที่ฐานของราชิลลาจะมีเปลือกบางๆ
อีกสองแผ่น ขนาดเล็กกว่าเลมมา และพาเลีย และมีรูปร่างค่อนข้างยาว ประกบอยู่ที่ฐานของเปลือกนอกใหญ่
เรียกว่า เปลือกนอกเล็ก (sterile lemmas) ซึ่งที่ปลายด้านล่างของเปลือกนอกเล็กจะประสานติดกันอยู่รอบๆ
ข้อ ที่เรียกว่า รูดิเมนทารี กลูมส์ (rudimentary glumes) ต่อลงมาก็จะเป็นก้านดอก
ซึ่งติดอยู่บนแขนงที่สองของรวงข้าว
ส่วนที่อยู่ภายในซึ่งเปลือกนอกใหญ่ห่อหุ้มไว้นั้น
ได้แก่ เกสรตัวผู้ (stamen)
และเกสรตัวเมีย (pistil) เกสรตัวผู้ประกอบด้วย
กระเปาะเกสรตัวผู้ (anther) เป็นสีเหลือง ซึ่งภายในมีละอองเกสรตัวผู้
(pollen grains) ขนาดเล็กจำนวนมาก กระเปาะนี้ติดอยู่บนก้านยาว
เรียกว่า ฟิลาเมนต์ (filament) และเชื่อมติดอยู่กับฐานของดอก
ในดอกข้าวแต่ละดอก จะมีกระเปาะเกสรตัวผู้จำนวน ๖ อัน ส่วนเกสรตัวเมียนั้น ประกอบด้วย
ที่รับละอองเกสรตัวผู้ (stigma) ซึ่งมีลักษณะคล้ายหางกระรอกขนาดเล็ก
จำนวนสองอัน แต่ละอันมีก้าน (style) เชื่อมติดอยู่กับรังไข่
(ovary) ในรังไข่จะมีไข่ เมื่อถูกผสมเกสรแล้วจะกลายเป็นเมล็ด
ดอกข้าวเป็นดอกชนิดที่เรียกว่า
ดอกสมบูรณ์เพศ (perfect
flower) เพราะมีเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย อยู่ในดอกเดียวกัน ฉะนั้น
การผสมเกสร (pollination) ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบการผสมตัวเอง (self-pollina-
tion) และมีการผสมเกสรแบบข้ามต้น (cross-po- llination) เป็นจำนวนน้อยมาก หรือประมาณ ๐.๕-๕% เท่านั้น ปกติการผสมเกสร เกิดขึ้นภายในดอกเดียวกัน
ในเวลาเช้า และก่อนที่เปลือกนอกใหญ่จะบานออกเล็กน้อย ดอกข้าวจะเริ่มบานจากปลายรวง ลงมาสู่โคนของรวงข้าว
และรวงหนึ่งๆ จะใช้เวลาประมาณ ๗ วัน เพื่อให้ดอกทุกดอกได้บาน และมีการผสมเกสร
หมายถึง
ส่วนที่เป็นแป้งที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม(endosperm) และส่วนที่เป็นคัพภะ
ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยเปลือกนอกใหญ่สองแผ่น เอ็นโดสเปิร์มเป็นแป้งที่เราบริโภค คัพภะเป็นส่วนที่มีชีวิต
และงอกออกมาเป็นต้นข้าวเมื่อเอาไปเพาะ
เมล็ดข้าว
การที่ละอองเกสรตัวผู้ตกลงบนที่รับละอองเกสรของเกสรตัวเมียนั้น
เรียกว่า การผสมเกสร หลังจากการผสมเกสรเล็กน้อย ละอองเกสรตัวผู้ก็จะงอกลงไปในก้าน ของที่รับละอองเกสร
เพื่อจะได้นำนิวเคลียสจากละอองเกสรตัวผู้ ลงไปผสม โดยรวมตัวกับไข่ และนิวเคลียสอื่นๆ
ในรังไข่ นิวเคลียสที่ได้รวมตัวกับไข่ จะเจริญเติบโตเป็นคัพภะ ส่วนนิวเคลียสที่ได้รวมตัวกับนิวเคลียสอื่นๆ
(polar
nuclei) ก็จะเจริญเติบโตเป็นแป้ง ที่เรียกว่า เอ็นโดสเปิร์ม หลังจากการผลมเกสร
ประมาณ ๓๐ วัน เมล็ดข้าวก็จะแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว ได้
เมื่อได้แกะเปลือกนอกใหญ่ของเมล็ดข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวมา
จะได้เมล็ดข้าว ที่เรียกว่า ข้าวกล้อง (brown rice) เมล็ดข้าวกล้องมักจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ
และเมื่อผ่าตัดเมล็ดข้าวกล้องออกตามความยาวแล้ว ศึกษาลักษณะของมันอย่างละเอียด จะพบว่า
เมล็ดข้าวกล้องประกอบด้วย เยื่อชั้นนอกบางๆ เรียกว่า เพอริคาร์พเลเยอร์ (pericarp
layers) จำนวน ๓ ชั้น เยื่อชั้นกลางบางหนึ่งชั้น เรียกว่า เท็กเมน (tegmen)
และเยื่อชั้นในบางๆ อีกหนึ่งชั้น เรียกว่า อะลูโรนเลเยอร์ (aleurone
layer) ถ้าเพอริคาร์พเลเยอร์เป็นสีน้ำตาล เมล็ดข้าวกล้องก็จะเป็นสีน้ำตาล
และถ้าเพอริคาร์พเลเยอร์เป็นสีแดง เมล็ดข้าวกล้องก็จะเป็นสีแดง ส่วนภายในที่เป็นแป้ง
จะมีลักษณะเป็นแป้งสีขาวหรือใส เป็นจำนวนน้อยมาก ที่มีแป้งเป็นสีแดง ข้าวเหนียวจะมีแป้งเป็นสีขาวขุ่น
ส่วนข้าวเจ้ามีแป้งใสกว่า อย่างไรก็ตาม ที่แป้งของเมล็ดข้าวเจ้า อาจมีจุดสีขาวขุ่นเกิดขึ้นที่ด้านข้าง
หรือตรงกลางของเมล็ดก็ได้ ซึ่งเรียกว่า ท้องไข่ หรือท้องปลาซิว (chalkiness
หรือ white center)
ขอบคุณภาพจาก Google ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากสาราณุกรมไทยสำหรับเยาวชน http://kanchanapisek.or.th/ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น